
มาดูข้อดี ข้อเสีย ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ จะได้ไม่เสียเปรียบ สามารถหาซัพพลายเออร์ที่เหมาะกับเราได้ ร้านของคุณใช้แบบไหน มาแชร์กันได้ครับ

เปรียบเทียบการใช้ซัพพลายเออร์เจ้าเดียว
ข้อดี
- สะดวกในการติดต่อและการสั่งซื้อ เคยมั้ยเวลาจะซื้ออะไรที ต้องหาเบอร์โทร หาไลน์ หานามบัตรสารพัด หรือขนาดเมมเบอร์ไว้ก็ต้องไล่หา แล้วยิ่งซื้อจากหลายเจ้าจะยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก ปกติถ้าเราสั่งผักร้านนึง สั่งเนื้อสัตว์ร้านนึง อันนี้ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าสั่งสลับร้านกันไปเดือนก่อนสั่งเจ้า A เดือนที่แล้วสั่งเจ้า B แบบนี้งงแย่ สู้สั่งแบบเจ้าเดียวไปเลยไม่ได้ แบบนี้สะดวกกว่า แถมซัพพลายเออร์อาจจำได้ว่าเคยสั่งอะไร ส่งที่ไหน จะยิ่งคุยกันง่ายขึ้น
- ต่อรองราคาได้ คำว่า “ลูกค้าประจำ” “ค้าขายกันมานาน” สองคำนี้มักจะมาพร้อมกับสิทธิพิเศษ เพราะซัพพลายเออร์เองก็อยากจะรักษาลูกค้าให้อยู่กับตัวเองไปนานๆ ดังนั้น ถ้ามีการต่อรองราคา ขอแถม ก็มักจะคุยกันง่ายกว่าลูกค้าเจ้าอื่นทั่วไป หรือแม้แต่ในช่วงที่เงินหมุนไม่ทัน ซัพพลายเออร์บางรายอาจจะยอมให้เครดิตไปก่อนแล้วจ่ายทีหลังก็เป็นได้
- ไม่มียอดสั่งขั้นต่ำ นี่เป็นหนึ่งในสิทธิพิเศษของลูกค้าประจำ ปกติถ้าสั่งยอดไม่ถึงตามกำหนดจะเสียค่าขนส่งเพิ่ม แต่ในกรณีลูกค้าประจำอาจจะขอเจรจาในส่วนนี้ดูเป็นครั้งคราวก็ได้ บางครั้งวัตถุดิบในร้านไม่ได้หมด เพียงแต่พร่องลงไปไม่พอขายในรอบถัดไป ตรงนี้สามารถเจรจาซัพพลายเออร์ได้ ว่างวดนี้จะซื้อเท่าไหร่ไม่จำเป็นต้องถึงยอดขั้นต่ำก็ได้ เพราะอย่างไรเสียในระยะยาวร้านก็เป็นลูกค้าประจำที่สั่งวัตถุดิบกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะร้านที่มีสัญญาซื้อขายกันระยะยาว และกำหนดปริมาณการส่งต่อรอบเอาไว้
ข้อเสีย
- ไม่มีตัวเลือกวัตถุดิบมากนัก เพราะการซื้อวัตถุดิบจากร้านเดิม ส่วนใหญ่เราจะได้ของแบบเดิมๆ เป็นวัตถุดิบที่ซัพพลายเออร์มี และซัพพลายเออร์ไม่ได้มีวัตถุดิบทุกชนิดให้เราเลือก เหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่ได้มีซีอิ๊วทุกยี่ห้อให้เราเลือก นั่นหมายถึงเราไม่มีโอกาสเปรียบเทียบทั้งราคาและคุณภาพของวัตถุดิบแต่ละชนิด ซึ่งสำคัญเพราะเราควรเลือกวัตถุดิบที่คุณภาพและราคาเหมาะสมกับอาหารของร้านเรามากที่สุด
- ไม่มีโอกาสเปรียบเทียบราคากับเจ้าอื่น เป็นธรรมดาถ้าสั่งของจากเจ้าเดียวมาอย่างยาวนาน ทำให้เราไม่ได้เปรียบเทียบราคากับเจ้าอื่น ซึ่งตรงนี้ทางซัพพลายเออร์เองก็มีกลยุทธ์ในการขายที่จะปิดล้อมโอกาสที่เราจะไปซื้อของจากเจ้าอื่นได้เช่นกัน เช่น โทรกระตุ้น โทรขายตั้งแต่ของยังไม่หมด หรือให้ส่วนลดเงินสดในกรณีที่สั่งเยอะขึ้น จุดนี้ดูเผินๆอาจไม่มีอะไร แต่ถ้าวันหนึ่งเราพบว่ามีเจ้าอื่นขายวัตถุดิบถูกกว่าเจ้าของเราหละ?
- มีตัวเลือกวัตถุดิบหลากหลาย เพราะแต่ละเจ้ามีการจัดการวัตถุดิบที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นคุณภาพจะต่างกันไปด้วย การมีซัพพลายเออร์หลายเจ้าจะทำให้เราเลือกวัตถุดิบได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น เช่น ถ้าเป็นเนื้อหมูสไลด์ ความบางของเนื้อหมูแต่ละเจ้ามักจะไม่เท่ากัน หรือเนื้อไก่ตัดแต่ง แต่ละเจ้าก็มีวิธีตัดแต่งไม่เหมือนกัน ทำให้ขนาดเนื้อแต่ละส่วนไม่เท่ากันได้ ซึ่งเราสามารถเลือกให้ตรงกับการใช้งานของเราได้
- กระจายความเสี่ยงในการจัดการซัพพลายเออร์ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าซัพพลายเออร์เจ้าเดียวของเราเกิดส่งของให้เราไม่ได้ในวันที่วัตถุดิบของเราหมดพอดี หรือขึ้นราคาสินค้าแบบไม่บอกล่วงหน้า เลิกกิจการกะทันหัน ฯลฯ ตรงนี้ล้วนแต่เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ถ้าไม่มีซัพพลายเออร์เจ้าสำรองร้านเราจะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างแน่นอน
- มีการแข่งขันด้านราคาจากซัพพลายเออร์ ทำให้มีโอกาสได้ราคาไม่แพง แน่นอนว่าในสินค้าคุณภาพพอกัน การบริการเหมือนกัน ร้านคู่แข่งกันจำเป็นจะต้องทำราคาแข่งกัน หรือให้สิทธิพิเศษโปรโมชั่นจูงใจลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเป็นจุดที่เรามีโอกาสที่จะได้ราคาที่น่าพอใจ หรือข้อเสนอที่เราได้ประโยชน์มากที่สุด
ข้อเสีย
- ความใส่ใจขึ้นอยู่กับยอดการสั่งของร้าน คำว่าลูกค้ารายใหญ่ สั่งของเยอะ ย่อมเป็นที่พอใจของซัพพลายเออร์มากกว่าลูกค้ารายย่อยอยู่แล้ว เพราะยอดกำไรจากการขายแต่ละครั้งมันดึงดูดใจมากกว่า ในขณะที่ลูกค้าประจำแม้บางครั้งจะสั่งของไม่เยอะ แต่ก็สั่งเรื่อย ๆ อยู่กันยาวๆ กำไรกันยาวๆไป ดังนั้นถ้าเราเลือกซื้อของจากซัพพลายเออร์เจ้านู้นที เจ้านี้ที ไม่ต่อเนื่องและไม่ได้ซื้อเยอะจริง ต้องทำใจในเรื่องนี้
- มียอดสั่งขั้นต่ำต่อรอบ พอไม่ใช้เจ้าที่สั่งของต่อเนื่อง ทางร้านอาจจะต้องบวกค่าส่ง หรือต้องขายในปริมาณที่เยอะเพื่อให้ราคาสินค้าครอบคลุมการจัดส่ง หลายร้านเลือกที่จะไม่ส่งของให้ลูกค้า ในกรณีที่ซื้อของไม่มากพอ เพราะกำไรไม่คุ้มค่ากับราคาที่ขายไป ดังนั้นถ้าเราสั่งวัตถุดิบจากหลายเจ้า โดยตั้งใจจะแบ่งสั่งเป็นจำนวนน้อยๆ แล้วมารวมกัน ให้ระวังจะเจอปัญหาเรื่องยอดสั่งขั้นต่ำต่อรอบ