เพียง 1 ไตรมาสหลังจากที่แพลทฟอร์ม Food Delivery สัญชาติไทยอย่าง ‘Robinhood’ เปิดให้บริการ แอปพลิเคชั่นส่งอาหารที่ถือกำเนิดจากการเป็นโปรเจ็กต์ CSR ของธนาคารไทยพานิชย์ก็เติบโตขึ้นทุกวัน จนปัจจุบันนี้มีจำนวนยูสเซอร์มากถึงกว่า คน โดยมีจุดเด่นที่แตกต่างจากแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาดอย่างเห็นได้ชัด
ผู้ที่จะมาเล่าถึงที่มา ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของโรบินฮู้ด รวมถึงแชร์ข้อมูลเบื้องลึก ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำการตลาด Delivery อันน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการได้ดีที่สุดก็คือ ‘คุณตูน-สุธีรพันธุ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์’ ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโรบินฮู้ดมาตั้งแต่วันแรก
แอปพลิเคชันส่งอาหารสัญชาติไทย…สำหรับคนตัวเล็กๆ
“จุดเริ่มต้นของ ‘Robinhood’ เกิดจากดำริของ คุณอาทิตย์ นันทวิทยา CEO ของธนาคารไทยพานิชย์ จากตอนที่ล็อคดาวน์โควิดเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทุกคนต้อง Work From Home แล้วสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ คุณอาทิตย์ก็รู้สึกว่าทำไมไม่มีแอปฯ ของคนไทยเลย และรู้สึกว่าธนาคารไทยพาณิชย์น่าจะมีศักยภาพที่จะทำสิ่งนี้ได้ โดยข้อแรกที่คุณอาทิตย์ตั้งโจทย์ก็คือว่า “ขอไม่เก็บค่า GP (Gross Profit = ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแอปฯ สั่งอาหาร)” เพราะเห็นใจร้านอาหาร เล็กๆ ที่ประสบปัญหากับการเก็บค่า GP ของแอปฯ ต่างชาติ”
“ใช้เวลาพัฒนาอยู่หลายเดือน เราก็เปิดตัวโรบินฮู้ดเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2020 ที่ผ่านมา แต่ก็เติบโตขึ้นทุกวัน จนตอนนี้มียูสเซอร์ที่ใช้บริการถึงกว่า 700,000 คน ภายในเวลารวมแล้วก็เพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น ตอนนี้ทุกวันมีออร์เดอร์ไม่ต่ำกว่าวันละ 13,000 ออร์เดอร์ จาก 66,000 กว่าร้านค้า นี่เฉพาะภายในกรุงเทพฯ เท่านั้นนะครับ และในอนาคตเรายังมีแผนที่จะขยายไปยังเมืองสำคัญใหญ่ๆ อย่าง ชลบุรี เชียงใหม่ และขอนแก่น อีกด้วย”
“ถ้าถามว่าโรบินฮู้ดแตกต่างจากแอปฯ เดลิเวอรี่เจ้าอื่นๆ อย่างไร เราพยายามที่จะหาจุดแตกต่างอยู่หลายเรื่องนะครับ แต่ก็สุดท้ายแล้วเราก็มาค้นพบสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ โรบินฮู้ดเป็นแพลตฟอร์มสำหรับร้านค้าและคนตัวเล็กๆ ครับ”
ข้อแตกต่างและจุดเด่นของ Robinhood
ไม่เก็บค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม (GP) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถเข้าถึงโอกาสช่องทางการขายเดลิเวอรี่ได้
เป็น Cashless Platform ซึ่งไม่ใช้เงินสด และจะเคลียร์เงินสดเข้าร้านทันทีภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งนี่ถือเป็นความเจ๋งสุดๆ เพราะในขณะที่หลายๆ แอปฯ ต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมงหรือหลายวัน แต่โรบินฮู้ดใช้ข้อได้เปรียบจุดแข็งใช้โซลูชั่นที่ SCB มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ในการเคลียร์เงินให้ร้านค้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ร้านมี Cash Flow ในการดำเนินกิจการ รวมถึงตัวไรเดอร์เองก็ได้รับการเครียร์เงินให้ไวด้วยเช่นกัน
ช่วยอุดหนุนค่าส่งในช่วง Off Peak เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย เพราะเห็นว่าช่วงก่อนเที่ยง หรือช่วงเย็นนั้นเป็นช่วง Peak Hour ที่ร้านต่างๆ นั้นน่าจะขายดีอยู่แล้ว จึงช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงที่ขายไม่ดีด้วยการ Subsidize ค่าส่งให้ถูกลง เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจสั่งอาหารได้ง่ายขึ้น โดยที่ไรเดอร์ยังได้ค่าส่งเต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่
มีฟีเจอร์เรียกว่า LS (Logistic Subsidy) ซึ่งเมื่อร้านอาหารไม่ต้องจ่ายค่า GP แล้วก็เปิดโอกาสให้ร้านอาหารมอบส่วนลดให้ลูกค้าด้วยตัวเองได้เลย โดยสามารถเลือกได้ว่าจะมอบส่วนลดให้ 3 , 5 , 8 , 10 , 15 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเอาส่วนที่ร้านไม่ต้องจ่ายให้แพลตฟอร์ม มาทำเป็นส่วนลดกระตุ้นยอดขายให้กับทางร้านเองได้
มีทีมซัพพอร์ตร้านค้าในการใช้งานแอปฯ เจ้าของกิจการร้านเล็กๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมักประสบปัญหาในการเข้าถึงโอกาสและตลาดเดลิเวอรี่ โรบินฮู้ดจึงเตรียมทีมงานไว้คอยช่วยเหลือผู้ประกอบการ แค่เดินไปธนาคารไทยพาณิชย์ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยจัดการให้ก็เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนสมัครใช้บริการ คอยช่วยสอนวิธีลงภาพอาหาร แต่งภาพเมนู ไปจนคิดแคปชั่นโดนๆ
มี Marketing Team ผู้เชี่ยวชาญที่คอยช่วยทำการตลาดเพิ่มยอดขาย โดยทางแอปฯ จะนำเอา Dynamic Delivery Data เข้ามาช่วยวิเคราะห์และกระตุ้นให้ลูกค้าสั่งอาหาร เช่น การทำคอนเทนต์ หรือการจัด Playlist ของร้านอาหารในหัวข้อต่างๆ สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เพื่อช่วยส่งเสริมการขายให้กับร้านต่างๆ
มีการจัดทำ Playlist และคอนเทนต์สม่ำเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าทั้งในหน้าเพจ และในแพลทฟอร์ม
เปิดกลยุทธ์การตลาด Delivery ฉบับ Robinhood
1.รูปหน้าปกต้องดูดีเหมือนหน้าตาเจ้าของร้าน
“ผู้ประกอบการควรใส่ใจในเรื่องการถ่ายภาพอาหารซึ่งถือเป็นจุดสำคัญอย่างแรกๆ ที่ลูกค้าจะตัดสินใจแวะเข้ามาดูร้านและสั่งอาหารของเราหรือไม่ เพราะในแอปฯ ก็มีร้านอื่นๆ เป็นตัวเลือกอีกมากมาย ถ้ารูปไม่ดึงดูดก็อาจทำให้ร้านของเราพลาดโอกาสสร้างยอดขายไปอย่างน่าเสียดาย ร้านที่นำเสนอภาพอาหารได้น่าสนใจ ยอมมีโอกาสในการขายได้มากกว่า แต่สิ่งสำคัญคือรูปกับอาหารต้องตรงปกด้วยเพราะถือเป็นสัญญาระหว่างร้านกับลูกค้า”
2.โปรโมทร้านตามกรุ๊ป
“การฝากร้านตามกรุ๊ปในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเทคนิคที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง แต่ต้องบอกครับว่าได้ผลดีอย่างมาก เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเชื่อถือคนที่มีตัวตนอยู่ในออนไลน์คอมมูนิตี้ต่างๆ มากกว่า ปัจจุบันนี้มีกรุ๊ปที่เกี่ยวกับประเภทอาหารและร้านสไตล์ต่างๆ ออกมามากมาย เช่น กรุ๊ปครัวซองต์ กรุ๊ปแซลมอน กรุ๊ปอาหารญี่ปุ่น กรุ๊ปอาหารจีน กรุ๊ปคาเฟ่ ฯลฯ เรียกได้ว่าแทบจะครอบคลุมทุกกลุ่มประเภทอาหาร เราสามารถเอาร้านของเราไปฝากโปรโมทต่างกรุ๊ปต่างๆ เหล่านี้ และหากมีการให้ส่วนลดพิเศษหากมาจากกรุ๊ปนี้ ก็สามารถสร้างแรงจูงใจกระตุ้นยอดขายได้อีกทาง”
3.กลยุทธ์ตั้งราคาแบบ ‘ลับ ลวง พราง’
“เทคนิคนี้ฝรั่งเรียกว่า ‘Ugly Brother’ เป็นเทคนิคการตั้งราคาเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างหนึ่ง เช่น อาหารชนิดเดียวกันแต่มีให้เลือก 3 ขนาด คือ S, M และ L ขนาดเล็กไซส์ S ตั้งราคาเริ่มต้นปกติ แต่ให้ตั้งราคาไซส์ M และ L ให้ราคาไม่ทิ้งห่างกันมาก ลูกค้าก็จะเปลี่ยนจากการสั่งขนาดกลางไปสั่งขนาดใหญ่ ซึ่งดูคุ้มค่ากว่ามาก ช่วยทำให้ร้านมียอดขายมากขึ้น”
4.สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์
“บางร้านที่ขายดีหน้าร้านแต่ปรากฏว่าขายบนแพลทฟอร์ม Online delivery ไม่ดีเลย อาจเป็นไปได้ว่าเพราะคนที่ใช้กันแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่นั้นส่วนใหญ่มักเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ใน Social Media ดังนั้นร้านของคุณจึงต้องมีตัวตนอยู่ในโซเชียลมีเดีย และบนโลกออนไลน์ด้วย
ขอให้หมั่นใช้โซเชียลมีเดียในทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Line และที่สำคัญเปิด Google Map มาก็ต้องเจอ ซึ่งเมื่อมีหมุดบนแมปแล้ว ก็ต้องเคลมหมุดนั้นให้เป็น official ของทางร้านด้วย เพราะจะทำให้เหมือนว่าเรามีเพจมีช่องทางเพิ่มขึ้นอีกอย่าง ใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์การตลาดได้อย่างเห็นผล ซึ่งหากไม่รู้ว่าจะปักหมุด หรือเคลมหมุดที่มีอยู่แล้วให้เป็น official ของร้านได้อย่างไร ก็สามารถไปที่ธนาคารไทยพานิชย์ เพื่อขอให้พนักงานที่ให้บริการทางด้านนี้โดยเฉพาะช่วยจัดการให้ก็ได้”
5.ชวนสั่งออนไลน์ลูกค้ายิ่งสะดวกยิ่งสั่งบ่อย
“เมื่อมีตัวตนบนโลกออนไลน์แล้ว ก็ต้องหมั่นทำคอนเทนต์เชิญชวนให้ลูกค้าสั่งให้เกิดยอดขาย หรือไม่ก็ขยันทำโปรโมชั่นมอบส่วนลด มีบางร้านที่สามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างเห็นผลโดยการนำโค้ดส่วนลดที่ทำร่วมกับทุก Application มารวมโปรโมทผ่านทางเพจ และทางช่องทางต่างๆ ของร้านอยู่เสมอ เพื่อเป็นการมอบสิทธิพิเศษและกระตุ้นยอดขายให้กับแฟนประจำของร้าน ซึ่งถือเป็นวิธีที่ง่าย ฉลาด สามารถทำได้ด้วยตัวเอง”
6.ใส่ใจในคุณภาพ ซื้อครั้งแรกอาจเพราะการตลาด แต่จะซื้อครั้งที่ 2 ต้องเพราะประทับใจ
“อย่างไรก็ตามการทำโปรโมชั่นเพื่อเพิ่มยอดเดลิเวอรี่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้คุณค้าขายได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญคือต้องควบคุมคุณภาพว่าทำอย่างไรอา จะได้มาตรฐานความปลอดภัย ทำอย่างไรลูกค้าถึงจะได้กินอาหารอร่อยใกล้เคียงกับการนั่งรับประทานทานที่ร้านมากที่สุด ต้องคิดถึงประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ แพ็คเก็จจิ้งต้อง function คุณภาพการส่งมอบอาหารและรสชาติอาหารต้องดี นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการสร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือและน่าจดจำ เราต้องมอบสิ่งดีๆให้กับลูกค้า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้เลยครับ”